บทสรรเสริญ

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระนางทารา

ทารา (เรียกตามภาษาสันสกฤต) ใน ธิเบต จะเรียกกันว่า Jetsun Dolma ซึ่ง ทารา ที่นับถือกันโดยทั่วไปก็คือ พระโพธิสัตว์ ใน พุทธนิกายมหายานนั่นเอง ซึ่งปรากฏกายในรูปของเพศหญิง

โดยนิยมบูชากันเพื่อให้สำเร็จในหน้าที่การงาน ว่ากันว่า ทารา เป็นเทพที่ผู้ฝึกปฏิบัตสมาธิในทางวชิรยานของทิเบต ให้การเคารพนับถือกับเป็นอย่างมาก พระนางคือ “พระแม่แห่งการหลุดพ้น” ผู้เป็นตัวแทนแห่งความบริสุทธิ์และการกระทำที่นำไปสู่ความรู้แจ้ง คำว่า “ทารา” หรือบ้างก็เรียกว่า “ตารา” นั้นมีที่มาจากรากศัพท์ภาษาสันสกฤตของคำว่า “ตริ” ที่แปลว่า “ข้าม” ดังนั้นจึงสื่อความหมายถึง ผู้ที่พาสรรพสัตว์ข้ามพ้น มหานทีแห่งการเวียนว่ายตายเกิด และความทุกขเวทนา

เชื่อกันว่า พระนางทารา คอยเฝ้ามอง ช่วยเหลือ สรรพสัตว์ในวัฏสงสาร โดยได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างมากในแถบ ทิเบต และ มองโกเลีย ซึ่งพระนางทารา เป็น เทพทางพุทธศาสนา ที่ไม่ได้อยู่ในรูปแบบของลามะ และ พระ ทั่วไป แต่ก็ได้รับความนิยมในการเป็น พระโพธิสัตว์พระองค์หนึ่งเช่นกัน (เช่นเดียวกับ เจ้าแม่กวนอิม ของประเทศจีน)
ทารา มีด้วยกัน 21 รูปนาม แต่ที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางคือ

พระนางทาราเขียว

พระนางทาราเขียว

พระนางทาราเขียว เชื่อกันว่าท่านจะคอยปกป้องคุ้มครองจากความกลัว ความโชคร้ายทั้งปวง ที่เกิดจาก ความไม่รู้ 8 ประการ ที่ก่อให้เกิดความเสื่อมขึ้นในมนุษย์ ซึ่งเปรียบออกมาเป็นสัญลักษณ์ได้ดังนี้ คือ

  1. สิงโต (ความทะนงตน)
  2. ช้างป่า (ความเชื่อที่ผิด และ ความโง่เขลา)
  3. ไฟ (ความโกรธ และ ความเกลี่ยดชัง)
  4. งู (ความอิจฉา ริษยา)
  5. โจรผู้ร้าย (ความคลั่งไคล้ ความเลื่อมใส ในทางที่ผิด)
  6. ทาส (ความโลภ ความตระหนี่)
  7. น้ำล้น (ความปรารถนา ความอยาก สิ่งผูกติดทางอารมณ์)
  8. วิญญาณร้าย (ความหลง)

พระนางทาราขาว

พระนางทาราขาว

พระนางทาราขาว เชื่อกันว่าท่านรักษาอาการ ความเจ็บไข้ได้ป่วย ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ทำให้ผู้นับถือมีสุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตดี ทำให้ อายุยืนยาว และกล่าวกันว่ารัศมีของพระนางขาวนวลเฉกเช่นกับแสงจันทร์
พระนางทาราแดง สอนให้ตระหนักรู้ถึงวิธีการที่จะปรับเปลี่ยนกิเลสตัณหา เป็นความเห็นอกเห็นใจผู้อื่น และความรัก ดลบันดาลให้เจอแต่สิ่งดีๆ
พระนางทาราน้ำเงิน (Ekajati) ได้รับการนับถือให้เป็นผู้ปกป้องนิกายนิงมะ (เป็นนิกายสำคัญนิกายหนึ่งของพุทธศาสนาในทิเบต ถือกำเนิดจากอาจารย์ชาวอินเดียคือ ปัทมสัมภวะ ที่เดินทางมาทิเบตเมื่อ พ.ศ. 1350 ซึ่งได้รับการนับถือจากชาวทิเบตอย่างกว้างขวาง และเป็นผู้สร้างวัดสัมเยซึ่งเป็นวัดแห่งแรกในทิเบต ปัทมสัมภวะ ได้เผยแพร่คำสอนของนิกายตันตระ จนมีสานุศิษย์ที่สำคัญหลายคน) ซึ่งพระนางทาราน้ำเงินนี้มีพลังอำนาจมาก เพื่อใช้ในการปกป้องพระธรรมคำสั่งสอนนั่นเอง

ความเป็นมาของพระนางทารา

พระเจ้าซรอนซันกัมโป (กลาง) เจ้าหญิงเวนเชิง (ขวา) เจ้าหญิงภริคุติ (ซ้าย)

พระเจ้าซรอนซันกัมโป (กลาง) เจ้าหญิงเวนเชิง (ขวา) เจ้าหญิงภริคุติ (ซ้าย)

บางที่บอกว่าเป็นพระอวโลกิเตศวร ในภาคเพศหญิง บางตำนานก็ว่าท่านมาจากน้ำตาของ พระอวโลกิเตศวรในตอนที่ท่าน เห็นความทุกยากของสรรพสัตว์ที่มีมากมาย ซึ่งเรื่องน้ำตาที่หลั่งออกมานี่เอง ทำให้ชาวธิเบตเชื่อว่า น้ำตาข้างขวาที่หลั่งออกมาคือ เจ้าหญิงภริคุติ (Bhrikuti Devi) ซึ่งเป็น ราชธิดาของพระเจ้าอังศุวรมันแห่งเนปาล และ น้ำตาข้างซ้ายคือ เจ้าหญิงเวนเชิง (Wencheng) ราชธิดาของพระเจ้าถังไท้ซุงแห่งประเทศจีน โดยทั้งสองเจ้าหญิงได้อภิเสกสมรส กับ พระเจ้าซรอนซันกัมโป (Songtsän Gampo) ซึ่งถือเป็นกษัตริย์พระองค์แรกของธิเบต (ตามที่มีหลักฐานทางประวัติศาสตร์ที่ชัดเจน) เพื่อเจริญสัมพันธไมตรีกับ เนปาล และจีน เพราะ ทิเบตในสมัยนั้นมีอำนาจทางทหารมาก จึงเป็นที่ยำเกรงแก่ เนปาล และ จีน ซึ่งเป็นประเทศข้างเคียง พระชายาทั้งสององค์นี้นับถือพุทธศาสนา และได้นำศาสนาพุทธเข้ามาเผยแพร่ในทิเบต รวมถึง เผยแพร่แก่ พระเจ้าซรอนซันกัมโปด้วย จึวทำให้ พระเจ้าซรอนซันกัมโป ส่งเสนาบดีของพระองค์คือ ทอนมีสัมโภทา ไปศึกษาศาสนาพุทธในอินเดีย เมื่อกลับมา สัมโภทา ได้ประดิษฐ์อักษรทิเบต และเขียนไวยากรณ์ภาษาทิเบต ส่งผลให้มีการแปลคัมภีร์ทางพุทธศาสนาเป็นภาษาทิเบต นอกจากนี้ พระองค์ได้วางระเบียบปฏิบัติ 16 ข้อ ที่ถือเป็นกฎหมายฉบับแรกของทิเบต และย้ายเมืองหลวงจากยาลุงไปสร้างเมืองหลวงใหม่ที่นครลาซา ซึ่งจะเห็นได้ว่า เจ้าหญิงภริคุติ และ เจ้าหญิงเวนเชิง นั้นทรงสร้างกุศลคุณงามความดีให้แก่ชาวทิเบตเป็นอย่างมาก ชาวทิเบต จึง ยกยกให้ เจ้าหญิงภริคุติ เปรียบเสมือนเป็น พระนางทาราเขียว (green tara) และ เจ้าหญิงเวนเชิง เปรียบเสมือนเป็น พระนาง ทาราขาว (white tara) ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา

1 ความคิดเห็น:

  1. สวัสดีค่ะ ดิฉันปิยะพร มีความศรัทธาในพระแม่ทาราเขียวเป็นอย่างมาก อยากทราบว่าจะสามารถบูชาพระแม่ไว้ติดตัว และหรือสักการะพระแม่ได้ที่ใดบ้างค่ะ รบกวรแจ้งให้ทราบที่ pp.yai@hotmail.com ด้วยนะค่ะ กราบขอบพระคุณเป็นอย่างสูง

    ตอบลบ