บทสรรเสริญ

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระวัชรปาณีโพธิสัตว์

คนจีนเรียกพระวชิรปาณีโพธิสัตว์ว่า ซี้กิมกังพู่สะ มีกายสีเขียว ถือวชิระเป็นอาวุธ ศักติชายาชื่อ สุชาดา ซึ่งโดยภาพรวมแล้วละม้ายคล้ายคลึงกับพระอินทร์ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูค่อนข้างมาก พระองค์มีหน้าที่ในการปราบยักษ์มาร เป็นผู้บันดาลฝนและช่วยเหลือเมื่อคราวที่พระศากยมุนีพุทธเจ้าเสด็จออกบวช และปรินิพพาน ดังนั้นจึงสามารถเนรมิตกายได้หลายลักษณะ และมักสร้างให้มีลักษณะน่ากลัว บ้างก็เป็นรูปกายมนุษย์ มี 3 ตา มีเส้นผมรุงรัง สวมมงกุฏกะโหลกมนุษย์ มีงูเป็นสายสังวาลย์ ภูษาทรงหนังเสือ ซึ่งลักษณะนี้คล้ายพระศิวะมหาเทพในศาสนาพราหมณ์ มีปางต่างๆ มากมาย อาทิ นีรามปาลาวัชรปาณี อจละวัชรปาณี และมหาจักรวัชรปาณี เป็นต้น

กิมกัง แปลว่า วัชระ ทรงเป็นพระธยานิโพธิสัตตว์ ที่เกิดจากอำนาจฌานของพระธยานิพุทธเจ้า สันนิษฐานว่าเป็น " พระอักโษภยพุทธเจ้า " แต่ก็มีตำนานกล่าวว่า ทรงเป็นพระมหาโพธิสัตว์ผู้ทรงรักษาพระศาสนาของ " พระโกนาคมพุทธเจ้า " ซึ่งเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ 26 ใน 28 พระพุทธเจ้าที่อยู่ในบางตำนานของหินยาน

พระวัชรปาณีหรือพระอินทร์ เป็นหนึ่งในพระโพธิสัตว์ที่ชาวธิเบตยกย่อง แต่ดั้งเดิมนั้นเป็นเทพในยุคแรกๆ ของพวกอารยัน พระอินทร์เป็นเทพซึ่งยังความอุดมสมบูรณ์ ต่อมาได้เกิดความขัดแย้งกันขึ้น เนื่องด้วยมีชนอีกกลุ่มหนึ่งนำพระวรุณขึ้นมาแทนที่ ความขัดแย้งนี้เองทำชาวอารยันต้องรบพุ่งกัน เนื่องจากความคิดต่างกันเป็นเหตุ ฝ่ายหนึ่งต้องอพยพมาทางใต้ และเป็นปฐมบรรพบุรุษของชนชาติอิหร่าน อีกฝ่ายหนึ่งข้ามอัฟกานิสถานเข้าอินเดีย จนเกิดเป็นอารยธรรมลุ่มแม่น้ำสินธุ

ปัจจุบันพระอินทร์หมดบทบาทไปจากศาสนาฮินดู เนื่องด้วยมีการสร้างมหาเทพขึ้นมารองรับความเชื่อ แต่พระอินทร์กลับมามีบทบาทในทางพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก เช่นเดียวกับพระพรหม แม้จะได้ชื่อว่าเป็น 1 ใน 3 มหาเทพของฮินดู แต่บทบาทน้อยเต็มที ไม่มีเทวสถานเป็นของตนเองอย่างมหาเทพพระองค์อื่น พระอินทร์หรืออีกนัยหนึ่งว่า วัชรปาณีโพธิสัตว์นั้น ไม่เคยปรากฏว่า อยู่โดดเดี่ยวช่วยเหลือสัตว์โลกแต่เพียงลำพัง มักมาพร้อมเทพบริวารอื่นๆ เพราะพระอินทร์นั้นมีบริวาร 33 คน พุทธศาสนาฝ่ายมหายานนั้น พระองค์มักจะเสด็จมาพร้อมกับพระมัญชุศรีโพธิสัตว์และพระปัทมปาณีโพธิสัตว์ (ปางหนึ่งของพระอวโลกิเตศวรโพธิสัตว์) เนื่องด้วยพระอินทร์มีวัชระเป็นอาวุธคู่กาย จึงจัดอยู่ในวัชรสกุล อันมีพระอักโษภยะพุทธเจ้าและพระนางโลจนาเทวีเป็นหัวหน้ากลุ่ม วัชระนั้นมีความหมายว่า " สายฟ้า " อันเป็นคุณสมบัติเดิมของพระอินทร์อยู่ครบถ้วน

เทพนิยายที่เกี่ยวข้องกับพระวัชรปาณีโพธิสัตว์มีว่า พระศากยมุนีพุทธเจ้ารับสั่งให้คอยปกป้องพญานาคจากการทำร้ายของเหล่าครุฑ เนื่องจากพญานาคได้รับการยกย่องให้เป็นผู้ควบคุมฝนฟ้า ดังนั้นพระวัชรปาณีจึงได้รับการยกย่องให้เป็นเทพเจ้าแห่งฝน พุทธศาสนิกชนฝ่ายมหายานจะทำพิธีขอฝนก็ต้องบูชาพระโพธิสัตว์พระองค์นี้

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น