บทสรรเสริญ

วันพุธที่ 31 มีนาคม พ.ศ. 2553

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์

พระสมันตภัทรมหาโพธิสัตว์

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ประทับอยู่บนหลังช้าง เป็นสัญลักษณ์แห่งความยิ่งใหญ่ เปรียบเป็นเช่น พระโพธิสัตว์ ต้องรับภาระอันหนักอึ้ง ที่จะนำเวไนยสัตว์ให้พ้นจากทุกข์ บรรดาสรรพสัตว์ทั้งหลาย เปรียบดังช้าง ที่เป็นไปด้วย แรงของกิเลสตัณหา พระโพธิสัตว์ดังควาญช้าง ซึ่งมีหน้าที่ฝึกปรือให้ช้างนั้นเชื่อง มีความอ่อนโยน และควาญช้างนั้น สามารถนำช้างไปสู่จุดหมายปลายทางได้

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ บ้างก็เรียกท่านว่า พระโพธิสัตว์แห่งมนตรา เป็นพระโพธิสัตว์ ที่ถือกำเนิด จากพระไวโรจนพุทธเจ้า ในนิกายตันตระบางนิกาย ถือเป็นพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง เพราะทรงประทาน ความรุ่งเรือง และความสงบสุขให้แก่ชาวโลก วันประสูติของพระสมันตภัทรโพธิสัตว์ คือ วันที่ 21 เดือน 2 ตามจันทรคติแบบจีน

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงได้ชื่อว่า เป็นพระโพธิสัตว์ผู้ทรงเป็นเลิศในทางจริยาและมหาปณิธาน ด้วยทรง มุ่งมั่นอย่างแน่วแน่ที่จะโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ ซึ่งถือเป็นภาระอันหนักหน่วง ภาพพระปฏิมา ของพระองค์ จึงทรงคชสารเป็นช้างเผือก 6 งา (คัมภีร์มหายานเรียกว่า ช้างฉัททันต์) เพราะถือว่าช้าง เป็นสัตว์ที่ทรหดอดทน เป็นการอุปมาอุปไมยถึงการโปรดสัตว์ให้พ้นทุกข์ได้ทั้งหมด ว่าเป็นงานที่ยากแสนเข็ญ ต้องใช้ความอดทน อย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเอาชนะกิเลส และตัณหาของสัตว์โลกทั้งหลายทั้งปวง

พระนามของท่านมีความหมายว่า “ ความปรารถนาดีอันประเสริฐที่สุด แห่งพิภพ ” ในพระวิหารของวัดโดยทั่วไป พระโพธิสัตว์ผู่เสียน จะอยู่ในตำแหน่งด้านขวามือ คอยปรนนิบัติพระศากยะมุนีพระพุทธเจ้าเสมอ พระโพธิสัตว์ผู่เสียน ซึ่งมีประวัติความเป็นมาหลายตำนานด้วยกัน

คัมภีร์หัวเหยียนจิง ของจีนกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู่เสียนคือบุตรชายคนโตของพระยูไล ว่ากันว่า ในบรรดา พระทั้งหลาย พระโพธิสัตว์ผู่เสียนคือ พระองค์แรก

คัมภีร์เปยหัวจิง ของจีนกล่าวว่า พระโพธิสัตว์ผู่เสียน คือ บุตรองค์ที่แปด ของ พระอมิตาภะ พุทธเจ้า มีศักดิ์ เป็นพี่น้องกับ พระโพธิสัตว์เหวินซู และ พระโพธิสัตว์กวนอิม ในตำนานของจีนจากคัมภีร์เสี่ยวเชิ่งจิง กล่าวว่า ในสมัยก่อนมีกษัตริย์พระองค์หนึ่งนาม เมี่ยวจวง มีพระธิดาสามพระองค์ พระโอรสหนึ่งพระองค์ พระธิดาองค์โต ภายหลังเป็นพระโพธิสัตว์เหวินซู พระธิดาองค์รองภายหลังเป็นพระโพธิสัตว์ผู่เสียน พระธิดาองค์เล็ก ภายหลังเป็น พระโพธิสัตว์กวนอิม และพระโอรส ภายหลังเป็น พระโพธิสัตว์ตี้จั้งหวัง

จาก ตำนานดังกล่าวมีความสัมพันธ์กันในบางประเด็น อาจกล่าวได้ว่า ในสมัยอินเดียโบราณ มีการจัดแบ่ง ชนชั้นวรรณะ ตำนานชี้ให้เห็นถึงความใกล้ชิด ของพระโพธิสัตว์ผุ่เสียนกับพระพุทธเจ้า ซึ่งอาจกล่าวได้ว่า พระโพธิสัตว์ผู่เสียน หากไม่ได้เป็นพระญาติที่มีความใกล้ชิดกับพระพุทธองค์ ก็อาจเป็น เชื้อพระวงศ์ ของกษัตริย์ แค้วนใดแคว้นหนึ่ง องค์ผู่เสียน ชาวจีนโบราณขนานนามท่านว่า “ ผู่เสียนผู้เป็นใหญ่แห่งความเพียร ” ผู้กราบไหว้ พระโพธิสัตว์ผู่เสียน มักขอพรให้ตนเองประสบความสำเร็จในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นหน้าที่การงาน หรือ การประกอบธุรกิจ ผู้กราบไหว้บูชามักสมหวังดังสิ่งที่อธิษฐานขอ ทั้งนี้จากรูปลักษณะ ขององค์ผู่เสียน พระหัตถ์ซ้าย จะถือหยก หรูยี่ ( หยกแห่งความสมหวัง ) ในประเทศจีนเชื่อกันว่าพระโพธิสัตว์ผู่เสียน สถิตอยู่ ณ เทือกเขาง๊อไบ๊ ( ภาษาจีนกลางเรียก เทือกเขา เอ๋อร์เหม๋ยซาน )

พระสมันตภัทรโพธิสัตว์ ทรงสอนไว้ว่า พึงเคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง การเคารพบูชา พระพุทธเจ้านั้น จะต้องเป็น การเคารพบูชา อันประกอบด้วย กาย วาจา ใจ (อันแน่วแน่ และบริสุทธิ์เปี่ยมด้วยความตั้งใจ) ที่สมบูรณ์

พระพุทธเจ้า ที่พึงเคารพบูชานั้นมีจำนวนมากมายมหาศาล (เกินสติปัญญาของมนุษย์จักประมาณได้) ทั้งในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อาศัยปณิธานแห่งข้าพเจ้า (พระสมันตภัทร์) ข้าพเจ้าเชื่อโดยปราศจากข้อกังขาใด ๆ (ประดุจดัง พระพุทธเจ้าทั้งปวงเสด็จมาปรากฏอยู่เบื้องหน้าข้าพเจ้า ข้าพเจ้าจักอภิวาทบูชาด้วย กาย วาจา ในที่แน่วแน่ บริสุทธิ์ และจักเคารพบูชาเช่นนี้ตลอดไป ในแต่ละพุทธเกษตรอันมีจำนวนมากมายประมาณมิได้ จักปรากฏกาย ของข้าพเจ้า ขึ้นในทุกสถาน และทุกกายจักอภิวาทบูชาพระพุทธเจ้าอันมีจำนวนประมาณมิได้เช่นกันหากโลกแห่ง ความว่างเปล่า มีขอบเขตเมื่อใด การบูชาของข้าพเจ้าก็จักสิ้นสุด แต่หากโลกแห่งความว่างนั้นไร้ซึ่งขอบเขต การบูชาพระพุทธเจ้า ก็จักไม่มีวันสิ้นสุดหากโลกของสรรพสัตว์ กรรมของสรรพสัตว์ ทุกข์ของสรรพสัตว์มีที่สิ้นสุด การบูชาของข้าพเจ้า ก็จักสิ้นสุดหากว่าโลกของสรรพสัตว์ กรรมของสรรพสัตว์ และทุกข์ของสรรพสัตว์ไม่มีที่สิ้นสุด ดั้งนั้น การบูชา ของข้าพเจ้าก็จักไม่มีวันสิ้นสุด ข้าพเจ้าจักเคารพบูชาสืบไปไม่หยุดหย่อน ด้วย กาย วาจา ใจ อย่างไม่อ่อนล้า ไม่เบื่อหน่าย

หากผู้ใดตั้งปณิธานจักบำเพ็ญบารมีตามเสด็จพระพุทธองค์แล้วพึงตั้งปณิธานและปฏิบัติดั้งนี้
ปณิธานข้อที่ 1 เคารพบูชาพระพุทธเจ้าทั้งปวง
ปณิธานข้อที่ 2 สรรเสริญพระตถาคตทั้งปวง
ปณิธานข้อที่ 3 ถวายบูชาแด่พระตถาคตทุกพระองค์
ปณิธานข้อที่ 4 ขมาอกุศลธรรมทั้งปวง
ปณิธานข้อที่ 5 อนุโมทนากุศลทั้งหลาย
ปณิธานข้อที่ 6 ทูลอาราธนาให้ทรงแสดงพระธรรม
ปณิธานข้อที่ 7 อาราธนาให้ประทับอยู่ในโลกต่อไป
ปณิธานข้อที่ 8 ขอศึกษาพระธรรมให้เจนจบ
ปณิธานข้อที่ 9 ขออนุโลมตามสรรพสัตว์
ปณิธานข้อที่ 10 ขออุทิศกุศลทั้งมวลแก่สรรพสัตว์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น