บทสรรเสริญ

วันศุกร์ที่ 16 เมษายน พ.ศ. 2553

หลวงพ่อพระราชพรหมยาน

 

คำสอนที่สายลม ปี ๒๕๓๑ ตอนที่ ๓ ๔ ม.ค. ๓๑ โดยหลวงพ่อพระราชพรหมยาน
ที่มา หนังสือธัมมวิโมกข์ ฉบับที่ ๓๔๘ มีนาคม ๒๕๕๓
วันนี้เป็นวันสุดท้ายในการเจริญพระกรรมฐานในงวดนี้ สำหรับ ๒ วันที่ผ่านมาดูเหมือนว่าวิปัสสนาญาณจะหนักไปหน่อย เมื่อสองวันที่ผ่านมาแนะนำในด้านวิปัสสนาญาณรู้สึกจะหนักไปนิดหนึ่ง แต่ให้มีความเข้าใจว่าวิปัสสนาญาณคืออะไร ความจริงวิปัสสนาญาณนี้ไม่ใช่ของหนัก ถ้าใช้ภาษาบาลีรู้สึกว่าหนักมาก ถ้าแปลเป็นภาษาไทยก็ไม่หนัก
ญาณเขาแปลว่ารู้
วิปัสสนาแปลว่าเห็น
คือมีความรู้ความเห็นตามความเป็นจริงหรือยอมรับนับถือความเป็นจริงนั่นเอง ใช้ปัญญายอมรับนับถือ
อย่างที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า ความเกิดมีสภาพไม่เที่ยง เมื่อเกิดเป็นเด็กเล็ก ต่อไปก็ค่อยๆ เปลี่ยนทีละน้อยมาเป็นเด็กใหญ่ จากเด็กใหญ่ก็เปลี่ยนมาเป็นหนุ่มสาว จากความเป็นหนุ่มสาวก็เป็นวัยกลางคน จากวัยกลางคนก็มาเป็นคนแก่ จากแก่ก็ตาย จากตายก็เป็นผี
ก็รวมความว่าสภาพของความเกิดในโลกนี้มันไม่เที่ยง ท่านบอกว่าโลกไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา คำว่าโลกนี่แผ่นดินก็โลก ต้นไม้หรือบ้านเรือนก็โลก คนก็โลก สัตว์ก็โลก รวมความว่าทั้งตัวโลกและสมบัติของโลกมีสภาพไม่เที่ยงเหมือนกัน
แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าต้องมาสอนก็เพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่ยอมรับนับถือตามความเป็นจริง เพราะเมื่อเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความรู้สึกว่าเราจะไม่เปลี่ยนแปลง ตอนเป็นเด็กเล็กก็อยากเป็นเด็กโต ก็ได้เป็นสมความปรารถนา เมื่อเป็นเด็กใหญ่แล้วก็อยากเป็นหนุ่มเป็นสาวก็เป็นได้สมความปรารถนา
พอถึงความเป็นหนุ่มสาวก็ไม่อยากแก่ เมื่อไม่อยากแก่ ถ้าความแก่เข้ามาเราก็ฝืนไม่ได้ ก็รวมความว่าโลกไม่มีการทรงตัวตามใจเราชอบ
ฉะนั้นพระพุทธเจ้าจึงสอนด้านวิปัสสนาญาณ คือยอมรับนับถือความเป็นจริง ให้มีความเข้าใจว่าโลกไม่เที่ยง คือร่างกายเราไม่เที่ยง วัตถุธาตุต่างๆ ก็มีสภาพไม่เที่ยง มันมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น แล้วมีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วก็มีการแตกสลายในที่สุด
เมื่อจิตยอมรับความเป็นจริงอย่างนี้แล้ว ก็มองเห็นความทุกข์ของโลกว่า การเกิดในโลกมันเต็มไปด้วยความทุกข์หรือความไม่เที่ยงของมัน ถ้าเราจะเกิดอีกกี่ครั้งสภาพความไม่เที่ยงก็คงอยู่ ก็มีความทุกข์ต่อไป
องค์สมเด็จพระจอมไตรทรงทราบว่าแดนที่มีความเที่ยงมันมี นั่นคือพระนิพพาน
มนุษย์โลกไม่เที่ยง เทวโลกกับพรหมโลกก็ไม่เที่ยง แต่แดนที่คนมีความเที่ยงมีคือนิพพาน จึงแนะนำให้ทุกคนปฏิบัติตนเพื่อพระนิพพาน การปฏิบัติเพื่อพระนิพพานนี่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำไว้ถึง ๘๔,๐๐๐ หัวข้อ ที่เราเรียกว่าธรรมขันธ์นี่ คือพระสูตรอันหนึ่งก็ดี ชาดกเรื่องหนึ่งก็ดี หรือว่าธรรมะตอนใดตอนหนึ่งที่กล่าวแล้วจบ จะสั้นจะยาวก็ตาม ก็ถือเป็นธรรมขันธ์กองหนึ่ง
ขันธ์แปลว่ากอง คือกองธรรมกองหนึ่ง ในคำสอนพระพุทธเจ้าทุกกองหรือทุกธรรมขันธ์ หรือทุกตอนที่สอนไว้น่ะมีผลถึงนิพพานทั้งหมด
แต่ว่าที่พระพุทธเจ้าท่านสอนมากก็เพราะว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทมีกำลังใจไม่เสมอกัน บางคนชอบลีลาแบบนี้ บางคนชอบลีลาแบบนั้น ถ้าสอนแบบเดียวถูกใจใคร คนนั้นก็บรรลุมรรคผล ถ้าบังเอิญบุคคลใดที่ไม่ถูกใจก็ไม่ได้บรรลุมรรคผล ฉะนั้นในฐานะที่องค์สมเด็จพระทศพลเป็นพระสัพพัญญู จึงสอนไว้มาก
วันนี้ก็จะแนะนำเรื่องกรรมฐานที่ปฏิบัติง่ายๆ จริงๆ มีอยู่ ๑๐ อย่างที่ท่านเรียกว่าอนุสสติ แต่วันนี้จะพูดครบสิบหรือไม่ครบก็ไม่ทราบเพราะมันเหนื่อยๆ ถ้าไม่ครบก็ขออภัยด้วย คือคำว่า อนุสสตินี่แปลว่าตามนึกถึง คือไม่ต้องใช้กำลังมาก ไม่ต้องเคร่งเครียดกับอาการที่ทำสมาธินั่งตรงเกินไป เราจะทำอย่างนั้นได้แต่ว่าพอเวลาสมควรเราก็เลิก แล้วต่อไปหลังจากนั้นหรือจะไม่นั่งอย่างนั้นเลยก็ได้ ถ้าจิตทรงอยู่ ตั้งเวลาการนึก
อนุสสติแปลว่าตามนึกถึง ถ้านึกถึงอนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่งใน ๑๐ อย่างนี้ ให้เลือกเอาตามชอบใจ เวลานี้อาจจะชอบอย่างนี้ เวลานั้นอาจชอบอย่างนั้น เวลาโน้นอาจจะชอบอีกอย่างหนึ่งก็ไม่เป็นไร ก็ถือว่าถ้าใจยังนึกถึงอนุสสติทั้ง ๑๐ อย่างนี่อย่างใดอย่างหนึ่ง
อันดับแรกก็ถือว่าเป็นมหากุศลใหญ่ ในระยะต้นๆ อย่างอ่อนๆ นี่ถือเป็นมหากุศลใหญ่ ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัท นึกถึงอนุสสติ ๑๐ อย่างนี้ อย่างใดอย่างหนึ่ง จิตจะมีกำลังแค่ขณิกสมาธิ คำว่าขณิกสมาธิ แปลว่าสมาธิเล็กน้อย คือนึกได้ครึ่งนาทีบ้าง หนึ่งนาทีบ้าง เป็นอย่างมาก จิตก็เผลอไปคิดเรื่องอื่นเข้ามาแทน พอรู้สึกตัวก็คว้ามาใหม่ นึกได้นาที สองนาทีบ้าง ครึ่งนาทีบ้างก็เผลอใหม่ อย่างนี้ท่านเรียกว่าขณิกสมาธิ
เพียงกำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทนึกอยู่แต่ละครั้ง เพียงแค่ขณิกสมาธิ อย่างนี้ท่านเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าบนสวรรค์ชั้นกามาวจรได้ แต่ว่าอยู่ตามเขตของสมาธิที่มีกำลังต่ำ ก็รวมความว่าเราเกิดเป็นเทวดานางฟ้าได้ก็แล้วกัน
ถ้ากำลังใจของบรรดาท่านพุทธบริษัทนึกถึงอนุสสติ ๑๐ อย่างนี้อย่างใดอย่างหนึ่ง ถ้ากำลังใจบางขณะทรงได้ถึง อุปจารสมาธิ คำว่า อุปจารสมาธิ แปลว่าสมาธิเฉียดฌาน ยังไม่ถึงฌานสมาบัติ ใกล้ฌาน แต่จิตเป็นสุข อารมณ์ที่เราจะคิดว่าขณะไหนจิตเป็นอุปจารสมาธิก็อาจจะสังเกตได้สัก ๒ อย่าง คือ
๑ มีกำลังใจชุ่มชื่นเอิบอิ่ม พอใจในการนึกถึง
๒ บางคนอาจจะมีภาพบางอย่างเกิดขึ้น บางทีก็เป็นสีเขียว สีขาว สีแดง ลอยอยู่ข้างหน้าบ้าง จางๆ ไม่ชัดเจนนัก
ถ้าอาการอย่างนี้ปรากฏขอบรรดาท่านพุทธบริษัทพึงทราบว่า เวลานั้นจิตของท่านอยู่ในขั้นของ อุปจารสมาธิ แต่การทรงสมาธิขั้นอุปจารสมาธิก็ไม่นานนัก บางครั้งก็ได้สัก ๑ นาทีแล้วก็หายไปแล้ว บางทีอย่างเก่งก็ ๒ นาที ๓ นาที นี่เอาอย่างสั้นๆ นะ และเอาน้อยๆ
ถ้าทรงได้ขณะนี้ท่านบอกว่าถ้าตายจากความเป็นคนเลือกเกิดเป็นเทวดาหรือนางฟ้าในสวรรค์ชั้นกามาวจรได้ตามใจ แต่ว่ามีสิทธิ์ได้สวรรค์ทั้ง ๖ ชั้น ชั้นไหนก็ได้ นี่สำหรับตำราท่านบอกนะ
ถ้ากำลังใจท่านพุทธบริษัทบางครั้งเป็นฌาน ความจริงเมื่อสองวันก็หนักวิปัสสนาญาณ วันนี้ก็หนักสมถะอีกแล้ว ถ้าคำว่าญาณฟังแล้วก็หนักใจว่าเมื่อไรเราจะได้ญาณ ก็ต้องอธิบายนิดหนึ่ง คำว่าญาณนี่คืออารมณ์ชิน อารมณ์ชินทรงตัว ถึงเวลาก็อยากทำ แต่การที่ปฏิบัติอย่างนี้ อารมณ์จิตเป็นสุข เราอยากทำ
เมื่อขณะที่ทำอยู่ ขณะใดก็ตามสมมุติว่าบรรดาท่านพุทธบริษัทนั่งกรรมฐานสัก ๓๐ นาทีที่บ้าน ในระยะเวลา ๓๐ นาทีนี้มันอาจจะมีนาทีใดนาทีหนึ่งก็ได้หรือสองนาทีก็ได้ ขณะนั้นบังเอิญหูได้ยินเสียงข้างนอกชัดเจนแจ่มใสมาก เขาด่ากันก็รู้ เขาว่ากันก็รู้ เขาชมกันก็รู้ เขาร้องรำทำเพลงก็ทราบ ได้ยินชัดเจนแจ่มในทุกอย่าง แต่ทว่าจิตใจเกิดไม่รำคาญในเสียง เฉพาะเวลานั้นจิตใจภาวนาและพิจารณาได้แบบสบายๆ เสียงได้ยินแต่ว่าไม่รำคาญ อย่างนี้ท่านถือว่าเวลานั้นใจของท่านเข้าถึง ปฐมฌาน หรือฌานที่ ๑ คือหูไม่รำคาญในเสียง
ต่อไปก็เป็นฌานที่ ๒ เอาแค่ฌานที่ ๒ ก็พอนะ ถ้าเป็นฌานที่ ๒ อันนี้ก็เผื่อว่าบางทีบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทจะเข้าถึง บางที่จะตกใจ แต่ขอพูดเรื่องฌานก่อน
ฌานที่ ๑ มีองค์ ๕ ต้องจำให้ดีนะ ฌานที่ ๑ มีคุณสมบัติที่ประกอบกัน ๕ อย่าง ท่านเรียกว่าองค์ ๕ คือ
๑ วิตก คือนึก
๒ วิจาร คือใคร่ครวญ
๓ ปีติ คือความอิ่มใจ
๔ สุข คือความสุขกายสบายใจ มันสุขมากกว่าปกติ
๕ เอกัคคตา คือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
คำว่าอารมณ์เป็นหนึ่ง ที่พูดแล้วเมื่อกี้นี้ว่า พอได้ยินเสียงชัดเจนดีมาก ใครจะพูดอะไรก็รู้เรื่อง แต่ไม่รำคาญในเสียง จิตตั้งมั่นในคำภาวนาหรือพิจารณาคือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง อย่างนี้ท่านเรียกว่าปฐมฌาน หรือฌานที่ ๑
แต่พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ ตอนนี้สิบรรดาท่านญาติโยมพุทธบริษัท บางทีก็ตกใจกัน เพราะว่าฌานที่ ๒ นี่มีองค์ ๓ คือ ตัดวิตกกับวิจารทิ้งไป เราไม่ต้องไปตัด เขาตัดเขาเอง วิตกวิจารสลายตัวไป เหลือแต่ปีติคือความอิ่มใจ สุขคือความสุข และเอกัคคตาคือมีอารมณ์เป็นหนึ่ง
พอจิตเข้าถึงฌานที่ ๒ จิตบะมีความสุขมาก มีความอิ่มเอิบมาก แต่ว่าเวลานั้นคำภาวนาหายไป คำภาวนานี่จะหยุดไปเอง
วิตก นี่คือนึกว่าจะภาวนา
วิจาร ก็หมายความว่ารู้อยู่ ใคร่ครวญอยู่ว่าคำภาวนานี้ถูกหรือไม่ถูก
ทีนี้วิตกกับวิจาร ทั้ง ๒ อย่างนี้คือคำภาวนาหายไป จะหยุดภาวนาเฉยๆ แต่ว่าจิตมีความชุ่มชื่นดีกว่าปฐมฌานมาก มีความสุขมาก อย่างนี้เป็นอาการของฌานที่ ๒
ตั้งแต่ฌานที่ ๒ เป็นต้นไปถึง ฌานที่ ๔ อันนี้ไม่มีคำภาวนา ขณะใดถ้ายังมีคำภาวนาอยู่ ขอบรรดาญาติโยมพุทธบริษัทพึงรู้ว่าเวลานั้นจิตของเรายังไม่ถึงฌานที่ ๒ ถ้าถึงฌานที่ ๒ เป็นต้นไปจะไม่มีคำภาวนา แต่ว่าคำภาวนานี้ต้องขึ้นต้นภาวนาเหมือนกัน เขาจะตัดเองด้วยกำลังของสมาธิ
ต่อไปจะแนะนำเรื่องอนุสสติ แปลว่าการตามนึกถึง
อนุสสติที่ ๑ คือ พุทธานุสสติ นึกถึงพระพุทธเจ้า หรือนึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง
ธัมมานุสสติ นึกถึงพระธรรมคำสั่งสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตอนใดตอนหนึ่งที่เราชอบ ได้ยินคนเขาพูด ได้ยินพระเทศน์ พระพูดให้ฟัง ใครก็ตามหรืออ่านหนังสือ แล้วชอบใจตอนไหน นึกถึงธรรมตอนนั้นเป็นธัมมานุสสติ
แล้วก็สังฆานุสสตินึกถึงพระอริยสงฆ์
แล้วต่อไปสีลานุสสติ นึกถึงศีลที่เคยรักษา คือระวังศีล
แล้วก็จาคานุสสติ นึกถึงทานการบริจาค เราเคยให้ทานแก่ใครบ้าง ให้ทานแก่คน ให้ทานแก่สัตว์ก็ตาม นึกถึงทานเพลิดเพลินในทาน นึกแค่อารมณ์เพลิดเพลินในทาน
แล้วก็เทวตานุสสติ นึกถึงเทวดา ถ้าผู้หญิงนึกถึงเทวดา ผู้ชายนึกถึงนางฟ้าละมั้ง คำว่าเทวตานุสสติ ไม่ใช่นึกถึงตัวเทวดานะ นึกถึงตัวเทวดาหรือนางฟ้าก็ได้ แต่ต้องนึกเลยไปกว่านั้นนิดหนึ่ง ต้องคิดว่าเทวดาก็ดี นางฟ้าก็ดี เดิมทีเป็นคนเหมือนเรา เมื่อท่านตายจากคนแล้วก็เป็นเทวดากับนางฟ้า ก็ต้องดูคุณธรรมว่าคนที่เป็นเทวดากับนางฟ้าน่ะเป็นได้เพราะว่าอะไร
ก็ดูตามคำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็ทรงทราบว่าคนที่จะเป็นเทวดากับนางฟ้าได้ต้องมีคุณธรรม ๒ อย่าง คือ หิริกับโอตตัปปะ
หิริ คือความละอายต่อความชั่ว
โอตตัปปะ เกรงกลัวผลของความชั่วจะให้ผลเป็นทุกข์
ในเมื่อใช้เทวตานุสสติก็นึกว่าในเมื่อท่านเป็นเทวดาได้ ท่านเป็นนางฟ้าได้ ท่านมีร่างกายเป็นทิพย์ ท่านมีที่อยู่เป็นทิพย์ ท่านมีอารมณ์เป็นทิพย์ ความเป็นทิพย์ของท่านปราถนาอย่างใดก็ได้สมความปรารถนา  เราต้องการเป็นเทวดาบ้าง เป็นนางฟ้าบ้าง
สมมุติว่าถ้าเราต้องการไปนิพพาน ถ้ายังไปนิพพานไม่ได้เพียงใด เราขอพักที่แดนของเทวดาหรือนางฟ้า และการที่พักอยู่ที่นี่ได้เราก็ต้องอาศัยคุณธรรม ๒ ประการคือ หิริและโอตตัปปะ จิตใจนึกว่าความชั่วเราจะไม่ทำ อายความชั่วทั้งที่ลับและที่แจ้งและเกรงกลัวผลของความชั่วที่จะให้ผล เป็นทุกข์ ถ้าใหม่ๆ ก็อดเผลอไม่ได้ เป็นของธรรมดา ถ้าทำจนชินก็ใช้ได้
ต่อไปก็เป็นมรณานุสสติ คือนึกถึงความตาย ตามที่พระพุทธเจ้าทรงแนะนำว่า ภิกขเว ดูก่อน ภิกษุทั้งหลายจงอย่าคิดว่าความตายจะเข้าถึงเราในวันพรุ่งนี้ ให้มีความรู้สึกว่าเราอาจจะตายวันนี้ไว้เสมอ จะได้ทรงความดีไว้
ต่อไปก็คือกายคตานุสสติ ตัวนี้สำคัญมากนะ มรณานุสสตินี่เป็นพื้นฐานของพระโสดาบันและพระสกิทาคามี อย่าลืมนะว่าอนุสสตินี่ไม่ใช่เรื่องเบานะ หนักมาก อย่างมรณานุสสตินึกถึงความตายเป็นอารมณ์นี่เป็นพื้นฐานให้เป็นพระโสดาบันและพระสกิทาคามี
ต่อไปก็เป็นกายคตานุสสติ คือนึกถึงร่างกาย คือร่างกายไม่มีสภาพทรงตัว มีอาการ ๓๒ มี ขน ผม เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ เป็นต้น ประกอบไปด้วยธาตุ ๔ อย่างนี้ไม่มีการทรงตัว มีการเกิดขึ้นในเบื้องต้น ถ้าเกิดในเบื้องต้นแล้วเสื่อมลงในท่ามกลาง ตัวนี้เป็นวิปัสสนาญาณนะ
ถ้านึกถึงว่าร่างกายเป็นอาการ ๓๒ นี่เป็นสมถภาวนา ถ้าคิดว่าร่างกายนี่มันไม่เที่ยงมีความเกิดขึ้นในเบื้องต้น มีความแปรปรวนไปในท่ามกลาง แล้วมีการแตกสลายในที่สุด อย่างนี้เป็นวิปัสสนาญาณ ต้องควบกัน
กายคตานุสสตินี่เป็นพื้นฐานของพระอนาคามีและพระอรหันต์ คนที่จะเป็นพระอนาคามีได้ก็ดี จะเป็นพระอรหันต์ได้ก็ดี ต้องชำนาญและคล่องในกายคตานุสสติ คือต้องรู้ความจริงว่าร่างกายไม่มีการทรงตัว ไม่ใช่แท่งทึบอันเดียว มันมีอาการทั้ง ๓๒ อย่างเข้าร่วมกัน
ร่างกายนี้มีสภาพไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา เกิดขึ้นในเบื้องต้น แปรปรวนไปในท่ามกลาง สลายตัวในที่สุด
ในอันดับแรก เราจะทราบว่าความทุกข์ทั้งหลายเกิดจากร่างกาย ถ้าไม่มีร่างกายก็ไม่มีทุกข์ ในตอนต้นพิจารณาไปจะเกิดนิพพิทาญาณ นิพพิทาญาณนี่จะเกิดเบื่อหน่ายในร่างกายของตนเอง เอาร่างกายเรานะ ร่างกายคนอื่นช่างเขา ถ้าความเบื่อหน่ายเกิดขึ้น อันนี้เป็นปัจจัยให้ได้พระอนาคามี
ต่อไปเมื่อเบื่อไปเบื่อมา เบื่อมาเบื่อไป เบื่อถึงที่สุดเกิดวางเฉยในร่างกาย คิดว่าจะเบื่อมันขนาดไหนก็ตาม ร่างกายก็ทรงสภาพแบบนี้ มันแก่ทุกวัน ขณะที่ยังไม่สิ้นลมปราณมันก็ป่วย ในก็หิว ในที่สุดอันก็ตาย
ในเมื่อสภาพมันเป็นอย่างนี้ เราคิดไปจะเบื่อไปก็เรียกว่าไม่มีทางที่จะหนีมันพ้น ในขณะที่เรายังอยู่ในร่างกาย ในที่สุดเราก็ว่าเฉย ก็ถือว่าร่างกายนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เราไม่มีในร่างกาย ร่างกายไม่มีในเรา คำว่าร่างกายหมายถึงธาตุ ๔ คือ ธาตุน้ำ ธาตุดิน ธาตุลม ธาตุไฟ
คำว่าเรา ตามภาษาหนังสือท่านเรียกว่า จิต แต่ว่าถ้าภาษาปฏิบัติเขาเรียกว่า อทิสมานกาย มันเป็นกายอีกกายหนึ่งที่สิงอยู่ในกายเนื้อ เพราะกายตัวนี้ที่เข้ามาปฏิสนธิ กายเนื้อจึงเกิด แต่ในเมื่อเราตายไป ท่านบอกว่าถ้าตายดีก็ไปสวรรค์ เลวก็ไปนรก แต่ไอ้กายเนื้อนี่มันไม่ได้ไปด้วย มันจมอยู่กับพื้นแผ่นดิน เขาเผาบ้าง เขาฝังบ้าง เขาโยนทิ้งแม่น้ำไปบ้าง ไม่ได้ไปสวรรค์นรกด้วย เราเท่านั้นที่เป็นผู้ไป
คำว่าเรา ตามภาษาหนังสือท่านเรียกว่า จิต แต่ว่าถ้าภาษาปฏิบัติเขาเรียกว่า อทิสมานกาย
ทีนี้เมื่อร่างกายไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราแล้ว เราก็บังคับมันไม่ได้ มันจะแก่ก็เชิญแก่ มันจะป่วยก็เชิญป่วย มันจะตายก็เชิญตาย เชิญหรือไม่เชิญมันก็เป็นอย่างนั้น ใจวางเฉยต่ออาการของร่างกาย จิตใจไม่สะดุ้งสะเทือนเมื่อร่างกายแก่ เมื่อร่างกายป่วย เมื่อร่างกายจะตาย ใจวางเฉย
แล้วก็เฉยทุกอย่างในสมบัติของโลก ไม่มีความต้องการผูกมัดจริงจังกับสมบัติของโลก อย่างนี้ท่านเรียกว่า สังขารุเปกขาญาณ เป็นอารมณ์ของพระอรหันต์
แล้วต่อไปอีกอันก็คือ อานาปานุสสติ คือการรู้ลมหายใจเข้าออก
ก็ขอสรุปว่าก็ขอให้ญาติโยมพุทธบริษัท เลือกเอาตามชอบใจ ตามเวลาที่ต้องการนะ เวลาไหนเราอยากจะนึกถึงพระพุทธเจ้าเราก็นึก นึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้านึกถึงความดีของพระพุทธเจ้า ถ้านึกถึงความดีของท่าน จนกระทั่งจิตใคร่ครวญบูชา อย่างนี้จิตจะเข้าถึงอุปจารสมาธิเป็นอย่างสูง ยังไม่เข้าถึงฌาน แต่ไม่เป็นไร
ถ้าต้องการเป็นฌาน ให้นึกถึงพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่ง ถ้าไม่เคยได้มโนมยิทธิ สำหรับท่านที่ได้มโนมยิทธิแล้วไม่เป็นไร นั่นอีกเรื่องหนึ่งต่างหาก ท่านที่ยังไม่ได้กำลังมโนมยิทธิหรือไม่ได้ทิพย์จักขุญาณ ยังไม่เคยเห็นภาพพระพุทธเจ้า ก็ให้จับภาพพระพุทธรูปองค์ใดองค์หนึ่งตามที่เราชอบ จะเป็นพระพุทธรูปองค์ไหน วัดไหนก็ได้ เหมือนกันหมด นึกถึงภาพพระพุทธรูปองค์นั้น แล้วก็นึกในใจถึงท่าน ถ้าจะใช้คำภาวนา
แต่ความจริงอนุสสตินี่ปฏิบัติจริงๆ เขาไม่ได้ภาวนา เขานึกเอาเฉยๆ แต่ว่าถ้าต้องการจิตเป็นฌาน พระโบราณาจารย์ท่านสอนให้ภาวนาด้วย จิตจับภาพพระพุทธรูปแล้วก็ภาวนาด้วย ถ้าจิตจับภาพพระพุทธรูปแล้วก็ภาวนาด้วย
ถ้าจิตจับภาพพระพุทธรูปแล้วภาวนาด้วย อย่างนี้เป็นฌานได้ถึงฌาน ๔ ได้ เพราะภาพพระพุทธรูปเป็นกสิณถ้าพระพุทธรูปสีเหลืองเป็นปีตกสิณพระพุทธรูปสีเขียวเป็นนีลกสิณ พระพุทธรูปสีขาวเป็นโอทาตกสิณ ถ้าพระพุทธรูปเป็นแก้วใสเป็นอาโลกกสิณ
รวมความว่าเราปฏิบัติได้ทั้งกสิณด้วย พุทธานุสสติกรรมฐานด้วย ขณะใดที่ใจนึกถึง ก็นึกว่านี่เป็นพระพุทธรูปเป็นพุทธานุสสติ ถ้านึกถึงสีเป็นกสิณ แต่ว่าความจริงไม่จำเป็นต้องเป็น สุดแท้แต่ใจมันชอบนะ
ในเมื่อเวลาไหนอยากนึกถึงพระพุทธเจ้าก็นึกถึง อยากนึกถึงพระธรรมก็นึกถึงได้ อยากนึกถึงพระสงฆ์องค์ใดองค์หนึ่งก็ได้ตามชอบใจ แล้วในการต่อไปก็อยากนึกถึงศีล ว่าศีลที่เราเคยรักษามีกี่สิกขาบท บกพร่องบ้างหรือเปล่า อย่างนี้เป็นสีลานุสสติ นึกถึงได้เป็นคุณทั้งหมด
ต่อไปก็นึกถึงเทวดาคือเทวตานุสสติบ้าง นึกถึงทานการบริจากบ้าง นึกถึงความตายบ้าง นึกถึงร่างกายไม่ดีบ้าง และอุปสมานุสสติคือนึกถึงพระนิพพานเป็นอารมณ์ ขณะใดที่นึกถึงพระนิพพานเป็นอุปสมานุสสติกรรมฐาน
ก็รวมความว่าอนุสสติทั้ง ๑๐ ประการนี้ให้นึกตามชอบใจ เวลาไหนชอบใจอนุสสติไหน นึกถึงอย่างนั้นเป็นมหากุศลหมด คำว่ามหากุศลถ้ากำลังอ่อนเต็มที นึกถึงบ้าง กระสับกระส่ายเกินไปบ้าง ก็เรียกว่าทรงตัวไม่ได้นานเป็นขณิกสมาธิ อย่างนี้เป็นเทวดาหรือนางฟ้าในสวรรค์ชั้นกามาวจรได้
ถ้าเป็นอุปจารสมาธิมีจิตใจชุ่มชื่นอย่างนี้ท่านบอกว่าเลือกเกิดในสวรรค์ ๖ ชั้นได้ตามชอบใจ ถ้าจิตทรงตัวอย่างต่ำไม่รำคาญในเสียง อย่างนี้เกิดเป็นพรหม
แต่ถ้าขณะใดที่ภาวนาและนึกถึงอนุสสติใดก็ตาม และเวลานั้นจิตใจเกิดไม่นิยมในร่างกายของเราเอง ร่างกายชาวบ้านช่างเขา ร่างกายของเราความจริงมันมีสภาพเต็มไปด้วยความทุกข์ เราเหนื่อยยากก็เพราะร่างกาย เราป่วยไข้ไม่สบายเพราะร่างกาย เรามีความกระทบกระทั่งใดๆ ก็เพราะร่างกายเป็นเหตุ
แล้วต่อไปถ้าหากว่าเราไม่มีร่างกาย ความทุกข์อย่างนี้จะไม่มี ถ้าคิดอย่างสั้นๆ ก็ร่างกายมันไม่ดีนะ เราไม่ต้องการมันอีก ถ้าเกิดชาติต่อไปเราขอเกิดแดนนิพพานจุดเดียว การเป็นมนษย์ก็ดี เทวดาก็ดี พรหมก็ดี ไม่มีสำหรับเรา
ถ้าคิดอย่างนี้คิดให้เกิดความมั่นใจจริงๆ แล้วก็ภาวนาก็ได้ นึกถึงพระพุทธเจ้าก็ได้ นึกถึงพระธรรมก็ได้ นึกถึงพระอริยสงฆ์ก็ได้ นึกถึงศีลก็ได้ นึกถึงทานการบริจากก็ได้ ให้ตั้งต้นคิดอย่างนั้นเสียก่อน แล้วต่อไปก็นึกถึงอนุสสติอย่างใดอย่างหนึ่งตามใจชอบ
สำหรับญาติโยมพุทธบริษัทที่มานั่งที่นี่ชอบนิพพานเป็นส่วนใหญ่ เราตั้งใจนึกถึงพระนิพพานตรง นึกว่าถ้าเราตายเมื่อไหร่ ขอไปนิพพานเมื่อนั้น หลังจากนั้นจะภาวนาให้ตรงก็ภาวนาว่า นิพพานะสุขัง กำลังใจจะได้ยึดมั่นในนิพพาน เพียงเท่านั้นท่านตายเมื่อไหร่ไปนิพพานเมื่อนั้น